top of page

รู้ทัน 3 ช่องโหว่ ปิดรูรั่วพนักงานทุจริต

พนักงานคือกลไกหนึ่งที่สำคัญในการทำธุรกิจประเภทบริการ ซึ่งธุรกิจร้านอาหารก็เป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่ต้องพึ่งกำลังของพนักงานในการขับเคลื่อนร้านให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ในยุคนี้บอกได้เลยว่าหากได้พนักงานที่ทำงานดีและทัศนคติดีถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งในการทำธุรกิจนี้ แต่สำหรับบางร้านอาจจะได้พนักงานทำงานดีแต่ทัศนคติไม่ดีซึ่งพาไปสู่ปัญหาต่างๆ สร้างความปวดหัวให้กับเจ้าของร้านได้ หนึ่งในนั้นคือปัญหาที่เจ้าของเองอาจไม่เคยรู้มาก่อนซึ่งก็คือ “การทุจริตของพนักงาน”



เราจะมาเปิดเผย 3 ช่องโหว่สำคัญที่นำไปสู่การทุจริตของพนักงานเพื่อให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกคนได้รู้ทัน และหาวิธีปิดรูรั่วเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตจากพนักงานขึ้น


1. ทุจริตราคาวัตถุดิบจากการไปซื้อ

มีหลายร้านอาหารขนาดเล็กที่ให้พนักงานไปซื้อวัตถุดิบเองตามตลาดสดโดยให้นำเงินสดที่ร้านออกไปซื้อเนื่องจากเจ้าของร้านไม่ะสวกในการไปเอง เพราะมีธุระอย่างอื่นที่สำคัญต้องทำ การทำแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ถือเป็นการแบ่งเบางานเจ้าของร้าน เพื่อให้มีเวลาโฟกัสกับงานสำคัญอื่นๆ แต่สิ่งที่อยากฝากไว้คือ อย่าปล่อยให้พนักงานไปซื้อของเองโดยที่เราไม่เคยขอตรวจสอบราคา จำนวนและคุณภาพวัตถุดิบต่างๆ หลังจากที่พนักงานกลับมาที่ร้านแม้แต่ครั้งเดียวเพราะจุดนี้แหละที่อาจเป็นช่องโหว่ให้พนักงานทุจริตได้โดยการฮั้วกับแม่ค้าในตลาดด้วยการเขียนบิลราคาให้สูงกว่าราคาจริงเพื่อกินส่วนต่างหรือแม้แต่ซื้อผัก 10 กิโลฯ แต่จัดมา 9 กิโลฯ ส่วนต่างที่เหลือแบ่งกับแม่ค้า เป็นต้น


2. ทุจริตจากการขโมยวัตถุดิบ

สำหรับบางร้านที่ให้ซัพพลายเออร์มาส่งวัตถุดิบโดยส่วนมากแล้วช่วงเวลาที่ซัพพลายเออร์มาส่งวัตถุดิบมักจะเป็นช่วงเวลาก่อนเปิดร้าน แสดงว่าเจ้าของร้านส่วนใหญ่จะยังไม่เข้าร้านกัน นี้แหละคืออีกช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริตได้ ด้วยการรับของจากซัพพลายเออร์เสร็จ เมื่อไม่มีใครมาตรวจรับของ พนักงานก็จะยักยอกวัตถุดิบเล็กๆ น้อยๆ ออกจากร้านไปขายต่อให้ร้านอาหารอื่นๆ

ดังนั้นต้องมีระบบตรวจสอบเช็คของรับเข้าจากซัพพลายเออร์ให้ชัดเจนทุกรายการ และในตอนพนักงานพักเบรก หรือเลิกงานกลับบ้านอาจตั้งกฎระเบียบขอตรวจค้นกระเป๋าก่อนออกจากร้านทุกครั้งเพื่อลดโอกาสการขโมยของได้อีกด้วย



3. ทุจริตจากการยกเลิกบิลหลังรับเงิน

ปัจจุบันร้านอาหารหลายๆ ร้านเริ่มมีการใช้ระบบ POS ในการรับออเดอร์คิดเงินทอนเงินต่างๆ แต่เกินกว่า 80% ไม่เคยมีใครเข้าไปดูว่าพนักงานของเรากดยกเลิกบิลหลังรับเงินบ่อยแค่ไหน ซึ่งการยกเลิกที่กล่าวมานั้น มันคือช่องโหว่ที่มีโอกาสทุจริตได้ ด้วยการรับเงินจากลูกค้าและปิดบิลเรียบร้อยแล้วแต่มีการยกเลิกภายหลัง โดยไม่ได้มีเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้นจริง ๆ เช่น ลูกค้ารับเงินทอนได้ตรวจสอบบิลใบเสร็จพบว่า ไม่ได้รับรายการอาหาร หรือลืมใช้บัตรส่วนลด เป็นต้น หากเป็นกรณีแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วหากมีการยกเลิกบิลหลังรับเงินแล้วมักจะเป็นทุจริตได้มากกว่า ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่ได้ตรวจสอบสาเหตุของการยกเลิกบิล หรือ ตรวจสอบข้อมูลการขายรายวันจากเครื่อง POS โอกาสโดนพนักงานทุจริตเงินร้านก็เป็นได้สูง


รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมกลับไปตรวจสอบร้านของท่านว่า มีช่องโหว่อะไรอีกบ้างที่อาจเป็นใจให้เกิดการทุจริตได้ หลายๆ กรณีพบว่า การทุจริตมักเกิดจากการที่ร้านไม่มีระบบตรวจสอบ และตัวผู้ประกอบการเองไม่ลงรายรายละเอียดในแต่ละจุดนั่นเอง


תגובות


bottom of page